ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา
00.jpg (269054 bytes)


           ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา ป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อเป็นศูนย์การผลิตน้ำมันคุณภาพสูง เช่น น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันเมล็ดไนเจอร์ น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน น้ำมันมะรุม เป็นต้น   เป็นศูนย์พัฒนาผลิตภัฑ์จากน้ำมัน และเป็นแหล่งรวบรวมความรู้  โดยเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554

               ชาน้ำมัน เป็นพืชที่มีชื่อวิทยาศาตร์ว่า Camellia oleifera Abel. วงศ์ Theaceae   มีการกระจายทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน บริเวณป่าดิบไหล่เขาและริมลำธารที่มีอากาศเย็น ระดับความสูง 500-1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีลักษณะคล้ายคลึงกับชาที่ใช้ใบเป็นเครื่องดื่ม (Camellia sinensis L.) เป็นไม้พุ่ม สูง 2-10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้มหรือเทา มีขนสากตามกิ่งอ่อน  ใบเดี่ยว ออกสลับ รูปทรงรี แผ่นใบหนา คล้ายแผ่นหนัง ฐานใบสอบเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบจักร  ดอกมี 5 กลีบ สีขาว เกสรตัวผู้จำนวนมาก สีเหลือง   ออกดอกระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม ผลขนาดเท่าผลมะนาว สีน้ำตาล แก่แล้วแตก ใช้เวลาในการเจริญ 10 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวเอาเมล็ดมาผลิตน้ำมัน  เมล็ดมีลักษณะคล้ายเมล็ดเกาลัดขนาดเล็ก สีน้ำตาลเข้มถึงดำ

a.jpg (205004 bytes)

องค์ประกอบทางเคมี

น้ำมันเมล็ดชามีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวในปริมาณสูง ได้แก่ oleic acid (โอเมก้า-9) 81-87%  linoleic acid (โอเมก้า-6) 13-28% และ linolenic acid (โอเมก้า-3) 1-3% 

การนำมาใช้ประโยชน์

1. อาหารเพื่อสุขภาพ   น้ำมันเมล็ดชามีคุณสมบัติคล้ายน้ำมันมะกอก แต่มีจุดเกิดควัน (smoke point) สูงกว่าน้ำมันมะกอก คือน้ำมันชาและน้ำมันมะกอกมี smoke point เท่ากับ 252 และประมาณ 200°ซ ตามลำดับ   และน้ำมันชายังทนต่อปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้สามารถนำไปปรุงอาหารประเภทผัดและทอดที่ใช้อุณหภูมิที่สูงได้ ในขณะที่น้ำมันมะกอกมี smoke point ต่ำจึงเหมาะในการทำน้ำสลัดและผัดที่อุณหภูมิไม่สูงมาก อย่างไรก็ตามน้ำมันเมล็ดชาสามารถนำมาทานสด คือนำมาทำน้ำมันใส่ในน้ำสลัด หรือนำไปบรรจุแคปซูลทานได้ น้ำมันเมล็ดชามีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณสูง จึงช่วยลดคลอเรสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด 

2. เครื่องสำอาง บำรุงเส้นผมและผิวพรรณ เมื่อใช้โลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันเมล็ดชาเป็นประจำพบว่า ช่วยปรับสภาพผิวให้เรียบเนียน เพิ่มความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่น ลดความหยาบกร้านและริ้วรอย

b.jpg (150898 bytes)

           3. กากเมล็ดชา มี saponins ในปริมาณสูง 11-18%   สามารถใช้เป็นสารลดแรงตึงผิว นำมาเตรียมน้ำยาทำความสะอาด ยากำจัดศัตรูพืช เช่น หอยเชอรี่

c.jpg (55575 bytes)

           โรงงานต้นแบบผลิตน้ำมันเมล็ดชา

            ใช้เครื่องจักรที่พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซล ของโครงการในมูลนิธิชัยพัฒนา โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยามหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   มีกำลังการผลิต 20,000 ขวดต่อเดือน (ขนาดบรรจุขวดละ 250 มิลลิลิตร)

d.jpg (111727 bytes)

 

การรับรองมาตรฐาน

1. GAP (Good Agricultural Practice) จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2. GMP (Good Manufacturing Practice)   จากสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

3. ทะเบียนอาหาร จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

4. อาหารรักษ์หัวใจ จากมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

5. การรับรองอาหารฮาลาล จากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

         ขั้นตอนการผลิตน้ำมันเมล็ดชา   ใช้วิธีการบีบเย็น โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

            1. รับซื้อเมล็ดชาจากเกษตรกร โดยเมล็ดชาต้องมีความชื้นไม่เกิน 25%  กำจัดความชื้นให้เหลือ 7%   เมล็ดชาจำนวน 1 กิโลกรัม จะให้น้ำมัน 200 – 250 มิลลิลิตร จากนั้นคัดเมล็ดชาที่มีคุณภาพดีเพื่อนำเข้าสู่ขบวนการผลิต

            2. กรณีมีเมล็ดชาน้ำมันเข้าสู่การผลิตจำนวนน้อย จะใช้เครื่องขนาดเล็ก บด แล้วหีบน้ำมัน

e.jpg (96421 bytes)

            3. เมล็ดชาถูกลำเลียงเข้าสู่เครื่องหีบน้ำมันชนิดเพลาเดี่ยว  

f.jpg (152739 bytes)

            4. เมล็ดชาจะถูกบีบให้แตกและรีดน้ำมันออกจากเมล็ดสู่ฐานรองรับน้ำมัน   กากที่เหลือถูกถ่ายออกจากเครื่อง

g.jpg (91329 bytes)

            5. น้ำมันที่ได้ (virgin oil) จะยังมีตะกอนและยางเหนียว   จะไหลผ่านท่อมาถังพักน้ำมัน โดยมีการกรองตะกอนโดยเบื้องต้นด้วยตะแกรงสแตนเลส  ถังพักน้ำมันจะควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 25°ซ และมีใบพัดกวนตลอดเวลาเพื่อป้องกันการเกิดกรดไขมันอิสระ

h.jpg (97214 bytes)

            6. น้ำมันจากถังพักถูกส่งต่อไปยังเครื่องแยกกากน้ำมัน โดยการอัดน้ำมันผ่านแผ่นผ้ากรอง ขนาด 20 ไมครอน จำนวน 32 ชั้น

i.jpg (79671 bytes)

            7. น้ำมันที่ผ่านการแยกกากแล้ว (extra virgin oil) จะนำมาพักในถังพักน้ำมันขนาด 5,000 ลิตร

j.jpg (68908 bytes)

8. นำน้ำมันเข้าสู่ขั้นตอนการปรับสภาพน้ำมัน ใช้เครื่องปรับสภาพน้ำมัน ซึ่งจะกำจัดยางเหนียว และกรดไขมันอิสระ  ผลพลอยได้จากขั้นตอนนี้คือไขสบู่ที่สามารถนำมาผลิตเป็นสบู่ต่อไป   ส่วนน้ำล้างที่ได้จากการปรับสภาพน้ำมันจะนำมารวมในถังพักเพื่อนำไปบำบัดต่อไป

9. น้ำมันที่ผ่านการปรับสภาพแล้วจะนำมาฟอกสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอในทุกครั้งที่มีการผลิต โดยการเติมดินฟอกสี (activated clay) แล้วกวนให้เกิดปฏิกิริยา  จากนั้นแยกดินฟอกสีออกโดยเครื่องแยกดินฟอกสี โดยกรองผ่านแผ่นผ้ากรองขนาด 20 ไมครอน จำนวน 32 ชั้น

10. น้ำมันที่ฟอกสีแล้วจะนำไปกำจัดกลิ่นโดยการดูดกลิ่น โดยพ่นไอน้ำเข้าในถังดูดกลิ่นแล้วใช้สุญญากาศดึงไอน้ำมันของกลิ่นออกมา

k.jpg (104810 bytes)
l.jpg (95786 bytes)

11. น้ำมันที่ผ่านขั้นตอนทั้งหมดจะนำเข้าสู่ถังพักเพื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุขวด ปิดผนึกฝาเกลียวและติดฉลาก

m.jpg (91791 bytes)
n.jpg (89243 bytes)

 

ขั้นตอนทั้งหมดเป็นระบบปิด ใช้ก๊าซไนโตรเจนเป็นตัวผลักให้น้ำมันไหลไปตามขั้นตอนต่าง ๆ  การวิเคราะห์คุณภาพทางเคมีจะประสานงานกับหน่วยงานมหาวิทยาลัย

         ภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ต้องขอขอบพระคุณเจ้าหน้าที่ผู้นำชมการดูงานมา ณ ที่นี้


Home Page นี้สร้างเมื่อเมษายน 2561
กลับไปหน้า การศึกษาสมุนไพร ณ ไร่ชาฉุยฟง ศูนย์วิจัยน้ำมันชาฯ และสวนพฤกกษศาสตร์แม่ฟ้าหลวงฯ