ตะไคร้


ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citratus Stapf.
ชื่อวงศ์ GRAMINEAE
ชื่อสามัญ Lapine, Lemon grass.
ชื่ออื่นๆ
เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน คาหอม
กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน ห่อวอตะโป่
ภาคเหนือ จะไคร
ภาคกลาง ตะไคร้
ภาคใต้ ไคร
เขมร-สุรินทร์ เหลอะเกรย, เซิดเกรย
เขมร-ปราจีนบุรี หัวสิงไค
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก ประเภทหญ้า อายุหลายปี สูงประมาณ 0.7 – 1.0 เมตร เหง้าใต้ดินมีกลิ่นเฉพาะ ลำต้นเป็นกอใหญ่มีข้อเห็นชัดเจน ข้อและปล้องสั้นมาก มีไขปกคลุมตามข้อ ลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ยาว แข็ง และเกลี้ยง

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ แคบยาว กว้าง 1 - 2 ซม. ยาว 70 - 100 ซม. ลักษณะใบรูปใบหอกแกมรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ขอบใบเรียบสากคม มีขนเล็กน้อย ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียวเป็นกาบซ้อนกัน กาบใบสีขาวนวลหรือขาวปนม่วง ยาวและหนาหุ้มข้อและปล้องไว้แน่น แผ่นใบสีเขียว มีเส้นใบขนานตามยาว สีขาวนวล เส้นกลางใบแข็ง ผิวใบสากทั้งสองด้าน มีกลิ่นหอมเฉพาะ

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ที่ปลายยอด มีช่อดอกย่อย 1 – 12 ช่อ และมีใบประดับรองรับ ช่อดอกย่อยแบนออกเป็นคู่ ช่อหนึ่งไม่มีก้าน และอีกช่อหนึ่งมีก้าน มีรังไข่แบบเหนือวงกลีบ ออกดอกยาก

ผล เป็นผลแห้งแบบธัญพืช เมล็ดเดี่ยว
ประโยชน์ทางยา
โคนกาบใบและลำต้น ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อแน่นจุกเสียด
ใบ รสหอมปร่า ใบสดใช้เป็นยาช่วยลดความดันฌโลหิต และแก้ไข้
ลำต้น รสหอมปร่า เป็นยาขับลม แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ผมแตกปลาย แก้เบื่ออาหาร ทำให้เจริญอาหาร ขับเหงื่อ แก้ดับกลิ่นคาวในอาหาร
ทั้งต้น รสหอมปร่า แก้ปวดท้อง รักษาโรคหืด แก้อหิวาตกโรค แก้โรคระบบทางเดินปัสสาวะ หรือใช้ทำเป็นยานวด ใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นรักษาโรค เช่น เป็นยาบำรุงธาตุ ขับเหงื่อ เจริญอาหาร
เหง้า รสหอมปร่า แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด แก้เกระษัย แก้เบื่ออาหาร แก้อาเจียนสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ เป็นยานอนหลับ ยาบำรุง แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะและนิ่ว ขับลมในลำไส้
ราก รสหอมปร่า เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้เสียดแน่น บำรุงไฟธาตุ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว รักษาเกลื้อน
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
ภญ.อัจฉรา แหลงทอง. สมุนไพรใกล้ตัว. หน้า 15.
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 93, 210.