กระดังงา


ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odorata (Lam.) Hook.f. & Thomson var. odorata
ชื่อพ้อง Cananga mitrastigma (F.Muell.) Domin, C. odoratum (Lam.) Baill. ex King, C. scortechinii King, Canangium mitrastigma (F.Muell.) Domin, C. odoratum (Lam.) Baill. ex King, C. scortechinii King , Fitzgeraldia mitrastigma F.Muell., Unona cananga Spreng., U. leptopetala DC., U. odorata (Lam.) Dunal, U. odoratissima Blanco, U. ossea Blanco, Uvaria axillaris Roxb., U. cananga Banks, U. odorata Lam., U. ossea (Blanco) Blanco, U. trifoliata Gaertn.
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE
ชื่อสามัญ Cananga, Ylang-Ylang, Ilang-Ilang (อิลาง-อิลาง)
ชื่ออื่นๆ
ยะลา, ตรัง กระดังงา
ภาคกลาง กระดังงาใบใหญ่, กระดังงาใหญ่
ภาคเหนือ สะบันงา, สะบันงาต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต้น จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 15 - 20 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มแน่น แตกกิ่งก้านสาขามาก แผ่ออกจากต้นมักลู่ลง เปลือกต้นเป็นสีเทาเกลี้ยงหรือสีเงิน พบรอยแผลใบขนาดใหญ่อยู่ทั่วไป ส่วนที่ยังอ่อนจะมีขนขึ้นปกคลุม ใบดกหนาทึบ สามารถขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือตอนกิ่ง ออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี

ใบเดี่ยวสีเขียวอ่อนบาง นิ่ม ออกแบบเรียงสลับในลักษณะห้อยลง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบมนกลมหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเป็นคลื่น ใบมีขนาดยาวประมาณ 7 - 12 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4 - 9 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบ 5 - 9 คู่ เป็นร่องส่วนบนของใบและนูนเด่นชัดด้านล่างของใบ เส้นกลางใบเห็นได้ชัดเจน ผิวใบบางเรียบและนิ่ม สีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีขนขึ้นทั้งสองด้าน ส่วนใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาวประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร

ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่บนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อดอกแยกแขนง ในช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 3 - 6 ดอก ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 - 6 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 2 - 4 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือสีเขียว มีกลิ่นหอมมาก กลีบยาวอ่อนมี 6 กลีบ กลีบดอกห้อยลง กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ชั้นและ 3 ชั้น กลีบดอกชั้นนอกมีลักษณะแคบ ยาว ปลายเรียวแหลม ขอบกลีบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย (เป็นคลื่นน้อยกว่ากระดังงาสงขลา) กลีบดอกมีขนาดยาวประมาณ 5 - 8.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 0.5 - 1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในมีลักษณะสั้นและแคบกว่าเล็กน้อย โคนกลีบดอกจะซ้อนทแยงอยู่ใต้รังไข่ กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุม ปลายกลีบเลี้ยงกระดกขึ้น รังไข่มีจำนวนมาก เกสรเพศผู้มีจำนวนมากเบียดกันเป็นตุ้มแป้นทรงกลมตรงกึ่งกลางดอก

ผล ออกเป็นผลกลุ่มมีประมาณ 4 - 12 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดยาวประมาณ 1.5 - 2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร ก้านช่อผลยาวประมาณ 2 - 2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลยาวประมาณ 1.3 - 2 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะรูปไข่แบน สีน้ำตาล ประมาณ 2 - 12 เมล็ด
ประโยชน์ทางยา
เปลือกต้น มีรสฝาดเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้อาการท้องเสีย ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
เนื้อไม้ มีรสขมเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
ราก มีสรรพคุณเป็นยาคุมกำเนิด
ใบ ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้อาการคัน และใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ดอก มีรสหอมสุขุม มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน ให้น้ำมันซึ่งใช้ปรุงน้ำอบและเครื่องสำอาง ใช้ปรุงเป็นยาหอม โดยประกอบกับเครื่องยาอื่นๆ แก้ลม ลมเป็นพิษ รักษาโรคหืด ใช้เป็นยาชูกำลัง ทำให้หัวใจชุ่มชื่น บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้อาการอ่อนเพลีย กระหายน้ำ จัดอยู่ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดเกสรทั้ง 7” (สัตตะเกสร) และ “พิกัดเกสรทั้ง 9” (เนาวเกสร) ช่วยแก้อาการไข้เนื่องจากโลหิตเป็นพิษ และมีปรากฏในตำรายาแผนโบราณชื่อคัมภีร์มหาโชติรัตน์ ยาชื่อมาลาสันนิบาต ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมจุกคอ แก้อาการแน่นหน้าอก แก้จุกเสียดและแก้สะอึก
เกสร มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร และใช้แก้โรคตา
น้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณเป็นยาขับลม ฆ่าเชื้อโรค ช่วยบำรุงประสาท สงบประสาท แก้อาการซึมเศร้า กระวนกระวายใจ แก้หอบหืด ช่วยลดความดันโลหิต
ต้นและกิ่งก้าน รับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
เมดไทย. กระดังงา สรรพคุณและประโยชน์ของกระดังงาไทย 30 ข้อ !. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2562, จาก https://medthai.com/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2/
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. กระดังงาไทย. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2562, จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=195
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง. กระดังงาไทย. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2562, จาก http://clgc.agri.kps.ku.ac.th/resources/old-fragrant/ylang.html
ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา. (2549). พฤกษชาติสมุนไพร. หน้า 34.