ขิง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe.
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่อสามัญ Ginger
ชื่ออื่นๆ
กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน สะเอ
เชียงใหม่ ขิงเผือก
จันทบุรี ขิง, ขิงแกลง, ขิงแดง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดินลักษณะเป็นเหง้า เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวล หรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นเฉพาะ จะแทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นมาเหนือพื้นดิน ส่วนที่โผล่เหนือดิน คือกาบใบที่หุ้มซ้อนกัน มีสีเขียว

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 15-20 ซม. ขอบใบเรียบ โคนใบสอบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบหรือใต้ใบมีขนสีขาวนวล ก้านใบสั้น

ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ช่อดอกลักษณะเป็นกาบสีเขียว ใบประดับเรียงเวียนสลับสีเขียวอ่อน ดอกจะมีกลีบดอกเป็นสีเหลืองแกมเขียว ตรงปลายกลีบผายกว้างออก สีม่วงแดง ส่วนโคนกลีบดอกม้วนห่อ

ผล (เมล็ด) เป็นผลแห้ง ทรงกลม และแข็ง ขนาดประมาณ 1 ซม. เป็น 3 พู ภายในมีเมล็ดสีดำหลายเมล็ด
ประโยชน์ทางยา
เหง้าแก่สด ยาแก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ สามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียดได้ดี มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี เพื่อย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดันโลหิต
ต้น ขับผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ แก้คอเปื่อย ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา แก้บิด แก้ลมป่วง แก้ท้องร่วงอย่างแรง แก้อาเจียน
ใบ รสเผ็ดร้อน บรรเทาอาการแก้ฟกช้ำจากการหกล้ม กระทบ กระแทก แก้โรคกำเดา ขับผายลม แก้นิ่ว แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา ขับลมในลำไส้ แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น เช่น มะขามแขก กานพลู ต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาระบายชนิดกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัว
ดอก รสฝาดร้อน ทำให้ชุ่มชื่น แก้โรคตาแฉะ ฆ่าพยาธิ ช่วยย่อยอาหาร แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ แก้นิ่ว แก้เบาขัด แก้บิด แก้ขัดปัสสาวะ โรคประสาทซึ่งทำใจให้ขุ่นมัว
ผล (เมล็ด) รสหวานเผ็ด รักษาอาการไข้ บำรุงน้ำนม บรรเทาอาการคอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ, ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น แก้หนองใน ตาต้อกระจก ตาฟาง ตามืด วิงเวียนศีรษะ โรคประสาทพิการ ปวดเอว การมีบุตรยากของสตรี
ลำต้นเหนือดิน รสเผ็ดร้อน ขับลมลำไส้ แก้ท้องร่วง จุกเสียด
เหง้า (ลำต้นใต้ดิน) รสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้คลื่นไส้อาเจียน ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ แก้หอบ รักษาบิด และรักษาพิษจากปู ปลา นก เนื้อสัตว์อื่นๆ ต้มดื่มแก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยขยายหลอดเลือดใต้ผิวหนังทำให้เหงื่อออก ปรับอุณหภูมิในร่างกายให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ให้ปรุงกับสมุนไพรอื่นเป็นยาคุมธาตุได้ดี และช่วยย่อยอาหาร ใช้เหง้าสดโขลกผสมกระเทียม เกลือ มะนาว รับประทานขับน้ำคาวปลาในสตรีที่คลอดบุตรใหม่ และขับลม บรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันการเมารถเมาเรือได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน
เปลือกเหง้า รสเผ็ดร้อน เปลือกเหง้าแห้งต้มน้ำดื่มเป็นยาขับปัสาวะ ขับลม รักษาอาการท้องอืด แน่นจุกเสียด อาการบวมน้ำ หรือใช้เป็นยาภายนอกทารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และแผลมีหนอง
ราก รสหวานเผ็ดร้อนขม ขับลม ฆ่าพยาธิ และเจริญอาหาร แก้เสมหะ แก้บิด แก้พรรดดึก บำรุงเสียงให้เพราะ ทำให้ผิวหนังสดชื่น แก้นิ่ว แก้ไอ รักษาบิดตกเป็นโลหิตสีขมิ้น
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
Rspg.or.th. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. กรุงเทพฯ: โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี; [เข้าถึงเมื่อ 5 ม.ค. 2560] เข้าถึงได้จาก: http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_11_1.htm
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 19, 88, 153.