กระถินเทศ


ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia farnesiana (L.) Willd.
ชื่อพ้อง Mimosa fanesiana L.
ชื่อวงศ์ FABACEAE (LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE)
ชื่อสามัญ Sponge tree} Cassie flower
ชื่ออื่นๆ
ภาคกลาง กระถิน
กรุงเทพมหานคร บุหงาอินโดนีเซีย
ภาคเหนือ กระถินหอม, ดอกคำใต้, คำใต้
ภาคเหนือ, เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน มอนคำ
ภาคใต้ ถิน
มลายู-ภาคใต้ บุหงาเซียม
มลายู-ปัตตานี บุหงาละสะมะนา
กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี เกากรึนอง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น สูง 1 - 4 ม. แตกกิ่งก้านต่ำ เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกเป็นร่อง ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลม

ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ออกเรียงสลับ ช่อใบย่อยมี 2 - 8 คู่ แต่ละช่อใบย่อยมีใบย่อย 8 - 20 คู่ ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 2 - 4 มม. ยาว 4 - 8 มม. โคนใบและปลายใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว มีหูใบเป็นหนามแข็งยาว 1 - 1.5 ซม.

ดอกออกเป็นกระจุกกลมตามซอกใบ ดอกสีเหลืองสดอัดกันแน่นอยู่บนฐานดอก มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายแยก 5 แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยก 5 แฉก เกสรเพศผู้สีเหลืองมีจำนวนมาก

ผลเป็นฝักกลมยาวโค้ง ยาว 9 - 10 ซม. ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 - 1.5 ซม. ผิวเรียบ ฝักแก่ไม่แตก เมล็ดสีน้ำตาล รูปรี มีจำนวน 3 - 15 เมล็ด เรียงเป็น 2 แถว
ประโยชน์ทางยา
ราก มีรสเฝื่อนฝาด กินเป็นยาอายุวัฒนะ ทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ต้มน้ำอมแก้ปวดฟัน แก้อักเสบ
ยาง เข้ายาแก้ไอ บรรเทาอาการระคายคอ
ใบอ่อน ตำพอกแก้แผลเรื้อรัง
ดอก ชงดื่ม แก้อาหารไม่ย่อย ดองเหล้าดื่มแก้ปวดท้อง
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
เอกสารอ้างอิง
ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา. (2549). พฤกษชาติสมุนไพร. หน้า 38.