กระเจี๊ยบมอญ


ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus (L.) Moench
ชื่อวงศ์ MALVACEAE
ชื่อสามัญ Lady's fingers, Okra
ชื่ออื่นๆ
ภาคกลาง กระเจี๊ยบ, มะเขือทวาย, มะเขือมอญ
ภาคเหนือ มะเขือพม่า, มะเขือมื่น, มะเขือละโว้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุกอายุปีเดียว สูง 1 - 2 ม. ลำต้นและกิ่ง มีขนแข็งยาวสีขาว เปลือกต้นบางและเหนียว

ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียน รูปไข่เกือบกลม กว้าง 10 - 30 ซม. ใบหยักเว้า 3 - 7 หยัก ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบสีเขียว มีขน ก้านใบยาว 10 - 30 ซม.

ดอกออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ มีริ้วประดับเป็นเส้นสีเขียว 8 - 10 เส้น ดอกสีเหลือง โคนด้านในสีม่วงแดง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันปลายแยก 5 หยัก ดอกแก่แยกจากกันด้านเดียวเป็นกาบยาว 1.5 - 3 ซม. กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นหลอดหุ้มเกสรเพศเมียไว้

ผลรูปทรงกระบอกปลายเรียวแหลม เป็นสันตามยาว 5 สัน ผิวมีขนปกคลุม ผลแห้งแตกออกได้ เมล็ดกลม ผิวเรียบ
ประโยชน์ทางยา
ผลแห้ง ป่นนำมาชงกับน้ำ กินบำบัดโรคกระเพาะอาหาร เพราะมีเพคติน และสารเมือกช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร แก้ไอ บำรุงกำลัง
ผลอ่อน เป็นยาหล่อลื่น ใช้ในโรคหนองใน
ดอก ลดไขมันในเลือด ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้กระหายน้ำ
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
เอกสารอ้างอิง
ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา. (2549). พฤกษชาติสมุนไพร. หน้า 29.