เทียนดอก


ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balsamina L.
ชื่อวงศ์ BALSAMINACEAE
ชื่อสามัญ Garden balsam
ชื่ออื่นๆ
ภาคกลาง เทียนดอก, เทียนไทย, เทียนบ้าน, เทียนสวน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำสีเขียวอ่อนอมแดง ผิวเรียบ เนื้อใส และมีขนเล็กน้อย โคนลำต้นสีแดง เอียงไม่ตั้งตรง เปราะง่าย แตกกิ่งก้านใกล้โคนต้น

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ตามก้านของลำต้น ลักษณะใบมนรีหรือรูปเรียวรี ปลายใบแหลมเรียว ขอบใบเป็นจักละเอียด โคนใบจะมนสอบเข้าหาก้านใบ ผิวเนื้อใบสาก หยาบ มองเห็นเส้นแขนงใบได้ชัด สีของใบจะเริ่มจากสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีเขียวและสีเขียวเข้ม

ดอก เป็นดอกเดี่ยว จะออกติดกันช่อหนึ่งอาจจะมี 2 - 3 ดอก ดอกมีหลายสี เช่น สีชมพู สีแดง สีส้มและสีขาว ออกดอกตรงส่วนยอดของลำต้น กลีบดอกจะอยู่ซ้อนๆ กันเป็นวงกลม กลีบดอกมี 4 - 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ปลายหยักเว้าเป็นลอน

ผล ผลรูปรี ปลายแหลมยาว มีสีเขียว ผลเมื่อแก่เต็มที่ก็จะแตกหรือดีดตัวออกเป็นเมล็ด

เมล็ด ลักษณะกลมเล็ก คล้ายเมล็ดดอกบานเย็น
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสเฝื่อน แก้เล็บขบ รักษาฝี หรือแผลพุพอง ฟอกเลือด แก้ปวดตามข้อ แผลมีหนองเรื้อรัง
ดอก รสเฝื่อนเย็น สลายลม ฟอกเลือด ลดบวม แก้ปวดข้อปวดเอว เป็นยาเย็นบำรุงร่างกาย ทาแผลน้ำร้อนลวก แผลผุพอง
ดอก และ ใบ รสเฝื่อนเย็น พอกกันเล็บถอด
เมล็ด รสขม กระจายเลือด ขับเสมหะข้นๆ ขับระดู แก้พิษงู แก้แผลติดเชื้ออักเสบเรื้อรัง แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้บวม แก้ตับแข็ง
ลำต้น รสเฝื่อน ขับลม ทำให้เส้นเอ็นคลายตัว ทำให้เลือดเดินสะดวก แก้ปวด แก้เหน็บชา แก้แผลเน่าเปื่อย
ราก รสเฝื่อนเมา ฟอกโลหิต ลดบวม แก้ปวดกระดูก แก้ช้ำบวม แก้ตกขาว แก้ตกเลือด
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 261.