มะพร้าว


ชื่อวิทยาศาสตร์ Cocos nucifera L. var. nucifera
ชื่อพ้อง Cocos nufiera L.
ชื่อวงศ์ ARECACEAE (PALMAE)
ชื่อสามัญ Coconut
ชื่ออื่นๆ
ทั่วไป มะพร้าว, หมากอูน, หมากอุ๋น
ชอง-จันทบุรี ดุง
กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี โพล
มลายู-ภาคใต้ ย่อ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ หมากหรือปาล์ม (ExP) ลำต้นส่วนมากตั้งตรงสูงชะลูดประมาณ 20 - 30 เมตร มีรอยเป็นปล้องถี่ตลอดลำต้น ลักษณะกลม เปลือกต้นแข็งสีเทา ขรุขระ ไม่มีกิ่งก้านสาขา ซึ่งช่วงแรกจะเจริญเติบโตในทางกว้างหรือหนาจนได้ขนาดแล้วจึงขยายทางด้านความสูง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกันบนก้าน ลักษณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบตัด ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบแคบยาวมีสีเขียว เส้นกางใบเป็นก้านแข็ง เส้นใบขนานตามยาวของแผ่นใบ ก้านใบหรือทางมะพร้าวจะเกิดที่ยอด ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกช่อตามบริเวณกาบที่หุ้ม ในช่อหนึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศผู้จะอยู่ปลายช่อ ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อ ดอกย่อยมีขนาดเล็กแบบสมมาตรตามรัศมี มีกลีบดอกรวมสองชั้นๆ ละ 3 กลีบ มีสีขาวนวล ช่อดอกมะพร้าวเรียกว่า จั่น และถ้ามีกาบหุ้มเรียกว่า งวงมะพร้าว ผล เป็นผลเดี่ยวเมล็ดเดียว แข็ง ลักษณะเป็นรูปทรงกลมโต มีเปลือกผลเป็นเส้นใยหนา ผิวเปลือกเรียบเกลี้ยง เป็นมันมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล ออกผลเป็นพวงเรียกว่า ทะลาย เมล็ด กลมมีเอนโดสเปิร์ม (endosperm : อาหารสำหรับเลี้ยงต้นอ่อน) มีเปลือกแข็งเรียกกว่า กะลา มีเนื้อในสีขาวอยู่ในกะลา ภายในเมล็ดจะกลวง เมื่อผลยังอ่อนจะมีน้ำมะพร้าวเต็ม
ประโยชน์ทางยา
เปลือกต้น ใช้เปลือกต้นสดเผาไฟให้เป็นเถ้า เป็นยาแก้เจ็บปวดฟันและใช้ทาแก้หิด
เปลือกผล ใช้เปลือกผลแก่ที่แห้งแล้ว นำมาใช้เป็นยาแก้โรคกระเพาะ แก้อาเจียน และใช้ในการห้ามเลือด เลือดกำเดาไหล และแก้ปวด
เนื้อในเมล็ดหรือเนื้อมะพร้าว ใช้เนื้อมะพร้าวสดหรือแห้ง ขูดใส่น้ำแล้วนำมาเคี่ยวเอาน้ำมันรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ไข แก้กระหายน้ำ เป็นยาบำรุงกำลัง
น้ำมะพร้าว รสหวานเค็ม ใช้น้ำมะพร้าวสดดื่มเป็นยาระบาย แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้พิษ แก้กระหายน้ำ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ ส่วนน้ำมะพร้าวอ่อนมีรสมัน ใช้แก้พิษต่างๆ เช่น ดื่มแก้พิษสลอด ใช้ดื่มและล้างหน้าแก้พิษยาเมา ยารมที่ทำให้ง่วงนอนหรือสลบ
ดอก รสฝาดหวานหอม ดอกสดอ่อนต้มน้ำดื่มแก้ท้องเสีย แก้เจ็บปากและคอ กินเป็นยาแก้ไข้ แก้ท้องเดิน แก้โลหิต บำรุงโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปากเปื่อย
เปลือกเมล็ดหรือกะลา ใช้กะลาแห้งนำมาเผาให้เป็นถ่านดำแล้วบดให้ละเอียดผสมน้ำดื่มแก้ท้องเสีย แก้ปวดกระดูกและเอ็น
ราก รสฝาดหวานเย็น ใช้รากสดต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ ใช้อมหรือบ้วนแก้เจ็บปากเจ็บคอ เป็นยาขับพยาธิ แก้ปวดฟัน
น้ำมันมะพร้าว รสมัน เป็นยาบำรุงกำลัง ทาแก้โรคผิวหนัง แก้กลากเกลื้อน แผลน้ำร้อนลวก ทาแก้ปวดเมื่อยและขัดตามเส้นเอ็น ใช้ทารักษาเส้นผม ใช้ทาผิวหนังที่แตกเป็นขุย, เจือกับยาที่มีรสฝาด เช่น ผสมน้ำปูนใสรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 247.