ขลู่


ชื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica (L.) Less.
ชื่อพ้อง Baccharis indica L.
ชื่อวงศ์ ASTERACEAE (COMPOSITAE)
ชื่อสามัญ Indiad marsh fleabane
ชื่ออื่นๆ
แม่ฮ่องสอน ขี้ป้าน
ภาคกลาง ขลู่
อุดรธานี หนวดงั่ว, หนวดงิ้ว, หนาดวัว, หนาดงัว
ภาคใต้ คลู, ขลู
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 - 2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขากว้างขวาง และเกลี้ยง เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาล

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะใบรูปไข่กลับหรือรูปรีปลายใบแหลมหรือแหลมมีติ่งสั้น โคนใบสอบแคบ ขอบใบจักเป็นซี่ฟันแหลม เนื้อใบคล้ายกระดาษ ค่อนข้างเกลี้ยง ไม่มีก้าน ใบสีเขียว มีกลิ่มหอมฉุน

ดอก ออกดอกเป็นช่อแยกแขนง ตามซอกใบและปลายยอด ช่อย่อยเป็นช่อกระจุกแน่น มีขนาดเล็กสีม่วงอ่อน ไม่มีก้านดอกย่อย ริ้วประดับแข็งสีเขียวเรียงเป็นวง 6 - 7 วง วงนอกรูปไข่ ส่วนวงในรูปหอกแคบปลายแหลม ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นรูปท่อ ปลายจักเป็นซี่ฟัน

ผล เป็นผลแห้งรูปทรงกระบอก มี 10 ชั้น รยางค์ (ส่วนที่ยื่นออกมาจากผล เช่น ขน) มีสีขาว แผ่กว้าง
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย เป็นยาอายุวัฒนะ สมานภายนอกภายใน แก้ไข้ ขับเหงื่อ ต้มดื่มแทนชาเพื่อลดน้ำหนัก แก้ปวดเมื่อย ขับระดูขาว
ใบและต้นอ่อน ใช้บรรเทาอาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ รักษาประดง เลือดลม หรือต้มอาบรักษาหิด ขี้เรื้อน
ใบและราก เป็นยารักษาไข้ หรือพอกแก้แผลอักเสบ ขับเหงื่อ
ดอก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้โรคนิ่ว
ทั้งต้น รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้ปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้ริดสีดวงจมูก แก้กระษัยกล่อน เป็นยาช่วยย่อย แก้วัณโรค
เปลือกต้น รสเมาขื่นหอม แก้ริดสีดวงจมูก แก้ริดสีดวงทวาร แก้กระษัย เป็นยาอายุวัฒนะ
ราก รสหอมฝาดเมาเค็ม แก้กระษัย แก้โรคนิ่ว ขับปัสสาวะ เป็นยาอายุวัฒนะ
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 206.