สะเดาไทย


ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis Valeton
ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ชื่อสามัญ Siamese neem tree
ชื่ออื่นๆ
ภาคกลาง สะเดา
ภาคเหนือ สะเลียม
ส่วย จะตัง
ภาคใต้ กะเดา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ขนาดกลาง สูงประมาณ 5 - 15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทาหรือเทาปนดำ ลักษณะแตกเป็นร่องตามยาว แตกกิ่งก้านสาขามากมาย บางต้นก็เป็นทรงพุ่ม

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงแบบสลับ ลักษณะใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ โคนใบเฉียง ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อย ปลายใบเหลมหรือเรียวแหลม ยอดอ่อนหรือใบที่แตกใหม่มีสีน้ำตาลแดง เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบสีเขียวปนขาว มองเห็นได้ชัด แผ่นใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งตรงซอกระหว่างก้านใบกับกิ่ง ออกดอกพร้อมใบอ่อน ดอกมีขนาดเล็กแบบสมมาตรตามรัศมี รูปกรวย มีกลีบดอก 5 กลีบสีขาวนวล ก้านชูเกสรตัวผู้รวมกับเป็นเกสร

ผล ลักษณะผลสดรูปทรงกลมรี ผิวเรียบสีเขียวอ่อน ผลแก่สีเหลืองส้ม เมล็ดแข็ง และมีเมล็ดเดี่ยว รูปรี
ประโยชน์ทางยา
ใบอ่อนหรือยอด รสขม แก้โรคผิวหนัง แก้น้ำเหลืองเสีย พุพอง เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาไข้มาลาเรีย บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร
ใบแก่ รสขม มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และฆ่าแมลงศัตรูพืช ใช้ใบสด 2 - 3 กำมือ โขลกผสมน้ำทาให้ทั่วศีรษะรักษาเหา
ก้านใบ รสขม แก้ไข้ป่า แก้ไข้ทุกชนิด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงน้ำดี
เปลือกต้น รสขมฝาดเย็น เป็นยาขมเจริญอาหาร ต้มดื่มแก้บิดมูกเลือด แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้กระษัย
กระพี้ รสขม แก้เพ้อคลั่ง บำรุงน้ำดี แก้ดีพิการ
แก่น รสขมฝาดเย็น แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้ตัวร้อน แก้คลื่นไส้ อาเจียน บำรุงโลหิต
ดอก รสขม แก้ริดสีดวง บำรุงธาตุ แก้พิษโลหิต พิษกำเดา
ผล รสขมเย็น บำรุงหัวใจให้เต้นเป็นปกติ ฆ่าแมลงศัตรูพืช
ผลอ่อน รสขมปร่า ฆ่าพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะผิดปกติ
เมล็ด รักษาโรคผิวหนัง ขับพยาธิ เป็นยาฆ่าแมลง เป็นยาถ่ายพยาธิและยาระบาย
ราก รสขมฝาดเย็น แก้เสมหะที่เกาะแน่นในอก แก้เสมหะจุกคอ
เปลือกราก รสขมฝาด แก้โรคผิวหนัง แก้ไข้ ทำให้อาเจียน
น้ำยาง รสขมเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้
น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคผิวหนัง และยาฆ่าแมลง
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 198.