แก้ว


ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.) Jack
ชื่อพ้อง Chaleas paniculata L.
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ชื่อสามัญ Andaman satinwood, Chinese box tree, Orange jasmine
ชื่ออื่นๆ
ภาคเหนือ แก้วพริก, ตะไหลแก้ว
ลำปาง จ๊าพริก
ภาคกลาง แก้ว, แก้วขาว
สระบุรี แก้วลาย
มลายู-ปัตตานี กะมูนิง
ยะลา แก้วขี้ไก่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น ขนาดเล็ก สูงประมาณ 5 - 8 เมตร เปลือกสีขาวปนเทาแตกเป็นร่องตามยาว แตกกิ่งก้านเล็กเป็นพุ่มแน่น

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เป็นช่อเรียงเวียนสลับ ช่อหนึ่งมีใบย่อย 3 - 7 ใบ ใบคู่ล่างมักมีขนาดเล็ก ลักษณะรูปใบมีหลายแบบ เช่น รูปไข่ รูปรี รูปข้าวหลามตัดเบี้ยว โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายหยักเป็นแอ่งตื้นๆ เนื้อในมีต่อมน้ำมัน เมื่อส่องกับแสงแดดจะเห็นเป็นจุดใสๆ เป็นพุ่มแน่นทึบสีเขียวเข้มและเป็นมัน ขยี้ดมมีกลิ่นฉุนเผ็ดร้อน

ดอก มีสีขาวบริสุทธิ์ ออกเดี่ยวๆ หรือออกเป็นกระจุก หรือช่อสั้นๆ ช่อละ 2 - 3 ดอก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ ร่วงง่าย บานเวลากลางคืน มีกลิ่นหอม

ผล เป็นผลแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ลักษณะรูปไข่หรือรูปรี ปลายทู่กว้าง ผลอ่อนสีเขียวพอสุกเป็นสีส้มอมแดง ผิวมีต่อมน้ำมัน

เมล็ด ลักษณะรูปไข่ มีขนหนาและเหนียวหุ้มรอบเมล็ด
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสร้อนเผ็ดขม ขับโลหิตระดูสตรี บำรุงธาตุ แก้จุกเสียดแน่นในท้อง ขับผายลม ใบสดโขลกปั้นใส่ทวารหนักประมาณ 5 นาที ตัวจะร้อนเหมือนเป็นไข้ ขับพยาธิตัวตืด แก้ท้องเสีย
กิ่ง และ ใบ ใช้รักษาโรคเอดส์
ก้าน และ ใบสด รสเผ็ดร้อนขม บดแช่แอลกอฮอล์ 1 วัน ใช้ทาหรือเป็นยาฉีดระงับปวด ต้มอมบ้วนปากแก้ปวดฟัน ก้านใช้ทำความสะอาดฟัน
ดอก และ ใบ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไขข้ออักเสบ แก้ไอ เวียนศีรษะ
ราก และ ต้นแห้ง ต้มเคี่ยวกรองเอาน้ำทาปากมดลูกใช้ช่วยเร่งการคลอดบุตร ขับประจำเดือน
ราก รสเผ็ดขมสุขุม แก้ปวดสะเอว แก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้น แก้ฝีฝักบัวที่เต้านม แก้ฝีมดลูก แผลคัน พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 176.