มะหาด


ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus lacucha Roxb. ex Buch.-Ham.
ชื่อพ้อง Artocarpus lakoocha Roxb. ex Buch.-Ham.
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชื่อสามัญ
ชื่ออื่นๆ
ภาคเหนือ หาดหนุน
ทั่วไป หาด
ภาคใต้ มะหาด
มลายู-นราธิวาส กาแย, ตาแป, ตาแปง
ตรัง มะหาดใบใหญ่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ขนาดกลางถึงใหญ่ สูงประมาณ 15 - 20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกนอกของลำต้นมีสีเทาแกมน้ำตาล หรือน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ทั่วไป เปลือกชั้นในสีน้ำตาลแกมแดง มักมียางสีขาวหรือสีขาวแกมเหลืองซึมออกมาตามรอยแตก ตามยอดอ่อนมีขนนุ่มสีเทาถึงน้ำตาลปกคลุมหนาแน่น

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบรูปขอบขนานหรือรูปรี หรือรูปไข่ โคนใบมนหรือเว้ามน ปลายใบแหลม ขอบใบแก่เรียบแต่ขอบใบอ่อนหยักเป็นฟันเลื่อยเล็กๆ ท้องใบสากคายมือ

ดอก ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามบริเวณซอกใบ ตอนปลายๆ กิ่งช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้รูปขอบขนาน กลีบดอกมี 2 - 4 หยัก ช่อดอกเพศเมียรูปเกือบกลม กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกมีสีเหลืองอ่อน

ผล เป็นผลรวมซึ่งเกิดจากผลเล็กๆ หลายๆ ผลเชื่อมติดกัน ลักษณะรูปทรงกลม เปลือกนอกมีผิวขรุขระ เนื้อค่อนข้างนุ่ม ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่สีเหลืองอมส้ม เนื้อผลสีชมพู รับประทานได้

เมล็ด ลักษณะรูปขอบขนานฝังอยู่ในเนื้อ มีหลายเมล็ด
ประโยชน์ทางยา
เปลือกต้น รสร้อน แก้ไข้
แก่น รสร้อน แก้จุกเสียดแน่น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ผายลม แก้ผื่นคัน แก้ตานขโมย แก้กระษัย ขับโลหิต เป็นยาระบาย ถ่ายพยาธิ
ราก รสร้อน แก้ไข้ แก้กระษัยเส้นเอ็น ขับพยาธิ แก้ไข้เพื่อฝีภายใน แก้พิษร้อน
ปวกหาด รสร้อนเมา ละลายน้ำดื่มขณะท้องว่างแล้วดื่มน้ำดีเกลือตามไป ขับพยาธิในท้องหรือละลายน้ำทาแก้ผื่นคัน
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 168.