มังคุด


ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia mangosatana L.
ชื่อวงศ์ CLUSIACEAE (GUTTIFERAE)
ชื่อสามัญ Mangosteen
ชื่ออื่นๆ
ทั่วไป มังคุด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ลำต้นตั้งตรง แข็งแรง สูงประมาณ 7 - 12 เมตร ลักษณะทรงพุ่มค่อนข้างกลม ภายในทรงพุ่มจะมีกิ่งแขนงแตกออกจากลำต้นที่เป็นแกนกลางเป็นรัศมีโดยรอบ กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมมน ผิวเปลือกลำต้นสีน้ำตาลคล้ำ และน้ำยางจากลำต้นจะมีสีเหลือง

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่ง โคนใบมนหรือแหลมสอบเข้าหากัน ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา มีเส้นใบจำนวนมากเรียงกันถี่ๆ มีสีเขี้ยวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีสีเขียวอ่อนออกเหลือง เส้นกลางใบนูนทั้งสองด้าน

ดอก ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นคู่ ออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของดอกมีกลีบรองกลีบดอก 4 กลีบหนา เป็นรูปมนโค้ง มีสีเหลือง กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่ มีสีชมพูแก่ เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก ก้านเกสรเล็ก โคนก้านแบน เกสรเพศเมียไม่มีก้าน

ผล เป็นรูปทรงกลมรี หรือค่อนข้างแบนเล็กน้อย เปลือกผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่สุกจะมีสีแดงอมชมพูหรือออกสีม่วงดำ เปลือกผลหนามียางสีเหลือง ที่ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดอยู่ แยกเป็น 4 - 7 แฉก ที่ขั้วผลมีกลีบรองกลีบดอก 4 กลีบติดอยู่ ภายในมีเนื้อสีขาว 4 - 7 กลีบ รสหวาน

เมล็ด มีประมาณ 0 - 4 เมล็ด ส่วนใหญ่เมล็ดจะลีบ
ประโยชน์ทางยา
ผล (เนื้อหุ้มเมล็ด) รสเย็นหวานอมเปรี้ยว บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้ร้อนในเนื่องจากรับประทานทุเรียน
เปลือกผล รสฝาด เปลือกผลแห้งใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเสีย แก้บิด ทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง, น้ำต้มจากเปลือกผล ใช้เป็นยากลั้วคอรักษาแผลในปากและชะล้างแผล, มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งทำให้เกิดหนองและต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง
ยางจากผล รสฝาด รับประทานแก้บิด ท้องร่วง ใส่แผลที่เป็นหนอง
ต้น รสฝาด ทุกส่วนของลำต้นเป็นยาฝาดสมาน ยางจากต้นเป็นยาถ่ายอย่างแรง, น้ำต้มจากเปลือกต้นและใบ อมกลั้วคอแก้แผลในปากและลดไข้
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 146.