ฝรั่ง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Psidium guajava L.
ชื่อวงศ์ MYRTACEAE
ชื่อสามัญ Guava
ชื่ออื่นๆ
ภาคเหนือ มะก้วยกา, มะมั่น
เชียงใหม่ มะก้วย
ละว้า-เชียงใหม่ ยะริง
แม่ฮ่องสอน มะกา
ตาก มะจีน
ภาคกลาง ฝรั่ง
นครพนม สีดา
มลายู-นราธิวาส ยะมูบุเตบันยา
ภาคใต้ ยามุ, ย่าหมู
สุราษฎร์ธานี จุ่มโป
ปัตตานี ชมพู่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ขนาดเล็ก สูงประมาณ 3 - 10 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเกลี้ยง สีเหลืองอ่อนออกสีเทา กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีขาวสั้นๆ และเปลือกต้นจะหลุดลอกออกเป็นแผ่นเมื่อกิ่งแก่

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมน ขอบใบเรียบ โคนใบมน แผ่นใบสีเขียว หนา หยาบ มีเส้นแขนงใบ 7 - 11 คู่ สีเขียวอ่อนปนขาว ท้องใบหรือใต้ใบมีขนสีขาวอ่อนนุ่ม และเห็นเส้นใบชัดเจน

ดอก ออกดอกเป็นช่อๆ ละ 2 - 4 ดอก หรือเป็นดอกเดี่ยว ตามซอกใบ ดอกขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียว ส่วนกลีบดอกมีสีขาวอมเขียวอ่อน หลุดร่วงง่าย

ผล เป็นผลเดี่ยวแบบมีหลายเมล็ด รูปทรงเกือบกลม ผิวเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนสีเขียวอ่อนหรือเขียวแก่ ผลสุกจะเป็นสีเหลือง เนื้อผลส่วนมากมีสีเหลือง ขาว ชมพู

เมล็ด มีขนาดกลมเล็ก และแข็ง สีเหลือง จำนวนมาก
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสฝาด ใช้ใบสดย่างไฟให้เกรียม ต้มน้ำหรือชงน้ำดื่มแก้โรคท้องเดิน โรคบิด แก้ปวดเบ่ง หรือโขลกคั้นเอาน้ำล้างแผล หรือใช้กากพอกแผล ช่วยถอนพิษบาดแผล, ใช้เคี้ยวใบสด 2 - 3 ใบ แล้วคายทิ้งระงับกลิ่นปาก แก้ปวดฟัน อมแก้เหงือกบวมได้, ใบแก่ใช้เผาแล้วต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง ใบแก่มีฤทธิ์แก้ท้องเสีย มีฤทธิ์ฝาดสมาน และระงับกลิ่นปาก
ยอด รสฝาด ใช้ปิ้งไฟชงน้ำดื่มแก้ท้องร่วง แก้เสมหะพิการ แก้บิด ปวดเบ่ง กินแก้พิษ และดับกลิ่นเหล้า
ผลอ่อน รสฝาด ใช้ผลอ่อน 1 ลูก ฝนกับน้ำปูนใสดื่มเป็นยาแก้อาการท้องเดิน แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง และบิดเรื้อรัง
ผลสุก รสหวาน ดับกลิ่นเหม็น ระบายท้อง
ราก รสฝาดเฝื่อน ต้มเอาน้ำดื่มแก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยดูดน้ำเหลือง ทำให้น้ำเหลืองแห้ง บดเป็นยาสมานแผลในกระเพาะ หรือต้มรวมกับสะเดา เพื่อใช้รสขมลดลง
ทั้งห้า รสฝาดเย็น โขลกพอกดูดน้ำเหลืองน้ำหนอง ถอนพิษบาดแผล ดูดกลิ่น
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 138.