แมงลัก


ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum americanum L.
ชื่อพ้อง Ocimum canum Sims
ชื่อวงศ์ LAMIACEAE (LABIATAE)
ชื่อสามัญ Hoary basil.
ชื่ออื่นๆ
ภาคเหนือ ก้อมก้อข้าว
ภาคกลาง แมงลัก, มังลัก
ภาคอีสาน อีตู่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก ขนาดเล็ก สูงประมาณ 30 - 100 เซนติเมตร โคนลำต้นแข็ง แตกกิ่งก้านสาขามาก สีเขียวออกขาวเล็กน้อย กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม และตามข้อมีขนสีขาวปกคลุม

ใบ เป็นใบเดี่ยว แตกใบออกแบบตรงข้าม ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปรี โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อย แผ่นใบสีเขียวตามขอบใบและเส้นใบมีขนละเอียดปกคลุม ก้านใบยาวประมาณ 1 - 2.5 เซนติเมตร มีขนปกคลุมเช่นกัน

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อฉัตร ออกช่อบริเวณยอดหรือปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาวและมีขนสีขาว กลีบรองกลีบดอกสีเขียวเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง กลีบดอกมีสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแยกเป็นปากมีหยักมนๆ 4 หยัก มีขนละเอียดสีขขาวปกคลุม เป็นดอกแบบสมมาตรด้านข้าง ดอกจะเรียงรอบก้านช่อเป็นชั้นๆ ชั้นละ 2 ช่อย่อย ช่อย่อยละ 3 ดอก

ผล เมื่อกลีบดอกร่วงก็จะเป็นผล ผลมีขนาดเล็ก เปลือกแข็งเมล็ดเดียว ลักษณะรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ผิวค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาลเข้ม ภายในผลมีเมล็ด 4 เมล็ด เมื่อนำไปแช่น้ำจะเกิดวุ้นหุ้มรอบๆ เมล็ด
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสหอมร้อน เป็นยาขับลม ขับเหงื่อ แก้ไอและโรคเกี่ยวกับลำไส้ ใช้อมบ้วนปากเพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน, ใช้ใบสดโขลกให้ละเอียดคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้หวัดในเด็ก, แก้หลอดลมอักเสบ, แก้ท้องร่วง, โขลกเป็นยาพอกแก้โรคผิวหนังทุกชนิด
ลำต้น รสร้อน ใช้ลำต้นต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ขับลม ขับเหงื่อ และโรคทางเดินอาหาร
เมล็ด รสหอมร้อน แช่น้ำให้พองเต็มที่ รับประทานเป็นยาระบาย ทำให้ถ่ายอุจจาระสะดวก ช่วยดูดซึมน้ำตาลในเส้นเลือด ช่วยเร่งการขับถ่าย เป็นยาลดความอ้วน ยาบำรุง ขับปัสสาวะ
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 127.