กะทือ


ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet (L.) Sm.
ชื่อพ้อง Zingiber amaricans Blume., Amomum zerumbet L.
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่อสามัญ Shampoo ginger
ชื่ออื่นๆ
เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน เฮียวข่า
กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เปลพ้อ
แม่ฮ่องสอน เฮียวแดง, เฮียวดำ
ภาคเหนือ กะทือป่า, กะแวน, กะแอน, แฮวดำ
ภาคกลาง กะทือ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก ที่มีลำต้นใต้ดินลักษณะเป็นเหง้า มีกลิ่นน้ำมันระเหย เนื้อในเหง้าหรือลำต้นใต้ดินมีสีขาวอมเหลืองอ่อน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง แทงหน่อออกด้านข้างและนอกสุดลำต้นส่วนของกาบใบที่แผ่ออกแล้วหุ้มซ้อนทับกันจนกลายเป็นลำต้นเทียม มีสีเขียวเข้ม ลำต้นเหนือดินกลม สูง 0.9-1.5 เมตร

ใบ เป็นใบเดี่ยว แตกใบเรียงสลับ ลักษณะใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนและสอบเรียวเข้าหาก้านใบ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบสีเขียวเข้ม ท้องใบหรือใต้ใบมีขนสีขาวนวล ก้านใบสั้น

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด แตกช่อจากหัวใต้ดินโผล่พ้นดินขึ้นมา ช่อดอกที่เห็นเป็นรูปทรงกระบอกสีเขียวปนแดง ปลายและโคนมนโค้ง ประกอบด้วยใบประดับที่เรียงซ้อนกันแน่น เมื่อดอกยังอ่อนจะปิดแน่น และจะขยายอ้าออกให้เห็น ดอกที่อยู่ภายในลักษณะเป็นหลอดโผล่ออกมาจากซอกใบประดับ กลีบดอกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวนวล โคนกลีบดอกม้วนห่อส่วนปลายกลีบผายกว้าง ดอกบานไม่พร้อมกัน

ผล กลม โต แข็ง สีแดง เป็นแบบผลแห้งแตก

เมล็ดสีดำ
ประโยชน์ทางยา
ราก รสขมขื่นเล็กน้อย แก้ไข้ตัวเย็น แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ต่างๆ แก้เคล็ด ขัด ยอก
เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสขมขื่นปร่า แก้แน่นหน้าอก แก้ปวดมวนในท้อง บำรุงน้ำนมให้สมบูรณ์ เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ แก้จุกเสียด แก้เสมหะเป็นพิษ ขับน้ำย่อย เจริญอาหาร แก้บิด ปวดเบ่ง เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ฝี ผสมในตำรับยากับสมุนไพรตัวอื่น แก้ไข้ตัวเย็น แก้กระษัย เป็นยาระบาย
ต้น รสขมขื่น เป็นยาแก้เบื่ออาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมีรส แก้ไข้
ใบ รสขมขื่นเล็กน้อย ต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาขับเลือดเน่าในมดลูก (เลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ) ขับน้ำคาวปลา แก้ปัสสาวะเป็นโลหิต ใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่นแก้ไข้ป่า อีสุกอีใส เป็นยาประคบเส้นฟกบวม ถอนพิษไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้อีดำอีแดง แก้หัด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้เปลี่ยนฤดู แก้ไข้เซื่องซึมผิดสำแดง
ดอก รสขมขื่น แก้ไข้เรื้อรัง แก้ผอมแห้ง แก้ไข้ตัวเย็น แก้ไข้จับสั่น ผอมเหลือง บำรุงธาตุ แก้ลม
เกสร รสเฝื่อนปร่า บำรุงธาตุ แก้ลม
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ

กะทือ, ต้น

กะทือ, หน้าใบ
 
กะทือ, หลังใบ
 

กะทือ, ดอกอ่อน

กะทือ, ดอกแก่
 
กะทือ, herbarium ตัวอย่างที่ 1
 

กะทือ, herbarium ตัวอย่างที่ 2

กะทือ, herbarium ตัวอย่างที่ 3
 
 
เอกสารอ้างอิง
Rspg.or.th. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. กรุงเทพฯ: โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี; [เข้าถึงเมื่อ 29 ก.ค. 2556] เข้าถึงได้จาก: http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_13_2.htm เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้; 2544
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กะทือ. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2562, จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/zinzerum.html
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 69.