เสลดพังพอน


ชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria lupulina Lindl.
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE
ชื่อสามัญ Philippine violet
ชื่ออื่นๆ
ภาคกลาง พิมเสนต้น, เสลดพังพอน, เสลดพังพอนตัวผู้
จีน เช็กเชเกี่ยม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่ม สูงประมาณ 1 – 2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ลำต้นมีหนามสีน้ำตาลคู่ ตามข้อและโคนใบ กิ่งก้านมีสีน้ำตาลแดงอมเขียว

ใบเป็นไม้ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเรียวแคบ ปลายใบแหลม โคนใบเรียวเล็กจนถึงก้านใบ ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง พื้นใบมีสีเขียวเข้มและมัน ก้านใบตลอดจนเส้นกลางใบสีแดง ใบยาวประมาณ 1.5 – 3.5 นิ้ว ก้านใบสั้น และที่โคนก้านมีหนามแหลมหนึ่งคู่สีม่วงชี้ลง

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามยอดหรือปลายกิ่ง ดอกมีใบประดับขนาดใหญ่ซึ่งจะเรียงกันเป็นรูปทรงกระบอกสีเขียว ปลายใบสีม่วงแดง เมื่อดอกยังอ่อนมีใบประดับหุ้มมิด เมื่อดอกบานจะโผล่เลยใบประดับออกมาครึ่งหนึ่ง ใบประดับรูปกลมรี ตอนปลายมีสีน้ำตาลอมแดง กลีบรองกลีบดอกสีเขียวมี 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลืองจำปา ตรงโคนเป็นหลอดตรงปลายแยกเป็น 5 กลีบ แบ่งออกเป็นกลีบบนและล่าง กลีบบนจะมี 3 กลีบ และใหญ่กว่ากลีบล่าง 2 กลีบ

ผล เป็นฝัก รูปมนรี แบนและยาว โคนกว้าง ปลายแหลม ภายในผลมีเมล็ด 2 – 4 เมล็ด
ประโยชน์ทางยา
ใบ ตำผสมน้ำข้าวสารใช้พอกหรือทาแผลแมลงกัดต่อยเพื่อแก้พิษ หรือเป็นลมพิษ หรือต้มกิน ช่วยลดอาการจากไข้มาลาเรีย มีรสขมมาก แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง แมงป่อง ตะขาบ แผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก หรือแผลมีเลือดออก ให้ใช้ใบตำพอกหรือผสมกับเหล้าตำพอก และอาจจะใช้ต้มน้ำกินทำให้เลือดไหลเวียนดี
ต้น ปลูกเป็นแนวรั้วป้องกันงู
ราก รสจืดเย็น ฝนกับสุราดื่ม และทาแก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ

เสลดพังพอน, ต้น

เสลดพังพอน, หน้าใบ
 
เสลดพังพอน, หลังใบ
 

เสลดพังพอน, ใบประดับ

เสลดพังพอน, ดอก
 
เสลดพังพอน, หนาม
 

เสลดพังพอน, herbarium ตัวอย่างที่ 1

เสลดพังพอน, herbarium ตัวอย่างที่ 2
 
เสลดพังพอน, herbarium ตัวอย่างที่ 3
 
เอกสารอ้างอิง
Eherb.hrdi.or.th. เสลดพังพอน, เสลดพังพอนตัวผู้. เชียงใหม่; โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง: [เข้าถึงเมื่อ 5 ม.ค. 2560] เข้าถึงได้จาก: http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=167&name=เสลดพังพอน,%20เสลดพังพอนตัวผู้%20&txtSearch=&sltSearch=
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 286.