กานพลู


ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (L.) Merr. & Perry
ชื่อพ้อง Eugenia caryophyllata Thunb., Eugenia caryophyllus (Spreng.) Bullock & Harrison, Eugenia aromatica Kuntze
ชื่อวงศ์ MYRTACEAE
ชื่อสามัญ Clove, Clove tree
ชื่ออื่นๆ
ภาคกลาง กานพลู
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ขนาดเล็ก สูงประมาณ 4 – 12 เมตร ลำต้นลักษณะเป็นทรงพุ่มรูปกรวย มีกิ่งล่างเป็นจำนวนมาก มีกิ่งกระโดงหรือกิ่งใหญ่ประมาณ 3 – 5 กิ่ง เปลือกเรียบ ลำต้นมีสีเหลืองน้ำตาล

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะใบรูปขอบขนานเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบอ่อนมีสีชมพูหรือสีส้ม และเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว หนาและมัน มีกลิ่นหอม และมีจุดน้ำมันอยู่ทั่วไปบนใบ

ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจุก ลักษณะคล้ายดอกชมพู่ เกิดบริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอดหรือซอกใบ ช่อหนึ่งๆ ประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 10 – 15 ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง มีสีแดงกระจาย เชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ 4 กลีบ กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย เกสรตัวผู้จำนวนมาก ผลสดรูปไข่กลับแกมรูปรี สีแดงเข้ม ดอกตูมอ่อนจะมีสีเขียวและก่อนที่ดอกจะบานสีของดอกจะค่อยๆ จางลงจนเป็นสีเหลืองและสีชมพูเรื่อๆ ขณะที่ดอกตูมจะมีสีชมพูอมแดง

ผล เป็นผลเดี่ยวเนื้อหนา ผลที่สุกมีสีม่วงคล้ำคล้ายลูกหว้า

เมล็ด เป็นเมล็ดเดี่ยว มีลักษณะค่อนข้างนิ่ม ด้านหนึ่งของเมล็ดเป็นร่องลึกลงไป
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสร้อน แก้ปวดมวน
เปลือกต้น รสร้อนปร่า แก้ปวดท้อง แก้ลม คุมธาตุ
ดอก รสเผ็ดร้อนปร่า เป็นยาแก้พิษโลหิต แก้ปวดท้อง แก้ลมเป็นเหน็บชา แก้พิษน้ำเหลือง แก้อุจจาระให้เป็นปกติ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน แก้หืด ละลายเสมหะ ดับกลิ่นปาก เป็นต้น
ดอกเมื่อตากแห้งแล้วจะเป็นสีแดงน้ำตาล นำมากลั่นใช้ 0.12 - 0.3 กรัม จะเป็นยาแก้ท้องขึ้น ธาตุพิการ ขับผายลมในลำไส้ เป็นยาบำรุง
ผล รสร้อนปร่า เป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม นิยมใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร
น้ำมันกานพลู รสเผ็ดร้อนปร่า เป็นยาระงับการชักกระตุก แก้ปวดท้อง ขับผายลม และแก้อาการปวดฟัน ทำให้ผิวหนังชา
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กานพลู. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2562, จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/syzygium.html
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 77.