มะนาว


ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus aurantifolia (Christm.) Swingle
ชื่อพ้อง Limonia aurantifolia Christm.
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ชื่อสามัญ Common lime.
ชื่ออื่นๆ
กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน ปะนอเกล, มะนอเกละ, มะเน้าด์เล
เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน หมากฟ้า
กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี ปะโหน่งกลยาน
เขมร-สุรินทร์ โกรยชะม้า
มลายู-ภาคใต้ ลีมานีปีห์
ทั่วไป มะนาว, ส้มมะนาว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ขนาดเล็ก เปลือกลำต้นเรียบสีขาวปนน้ำตาล แผ่กิ่งก้านสาขากว้าง และมีหนามแหลมแข็งตามกิ่งก้านบริเวณซอกใบ

ใบ เป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักมน แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน และมีต่อมน้ำมัมกระจายอยู่ตามผิว ใบอ่อนสีเขียวอมแดง ก้านใบสั้นและมีปีกแคบหรืออาจจะไม่มีปีก

ดอก ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ประมาณ 5 - 7 ดอก หรือเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว ด้านท้องมีสีม่วงปน เกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นกลุ่มๆ ละ 4 - 8 อัน ดอกมีกลิ่นหอม

ผล ลักษณะเป็นรูปทรงกลม ผิวเรียบเกลี้ยงสีเขียวเข้ม ส่วนผลแก่จะมีสีเหลือง เนื้อในแบ่งเป็นซีกหรือห้องแบบรัศมีประมาณ 5 - 40 ห้อง มีรสเปรี้ยว

เมล็ด ภายในเนื้อผลแต่ละซีกหรือห้อง มีเมล็ดลักษณะกลมรีหรือรูปไข่ มีขาวนวลหรือเหลืองอ่อน ประมาณ 10 -15 เมล็ด
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสปร่า ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ กัดฟอกหรือละลายเสมหะ แก้ท้องอืด ท้องเสีย ช่วยขับลม ช่วยเจริญอาหาร ฟอกโลหิตระดูหรือประจำเดือน
น้ำในลูก รสเปรี้ยว คั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เลือดออกตามไรฟัน และถ่ายพยาธิ ผสมเกลือและน้ำตาลทรายแดง จิบแก้เสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ล้างเสมหะในคอ กัดเถาดานในท้อง ฟอกโลหิต ใช้เป็นน้ำกระสายผสมยากวาดคอเด็ก แก้ไข้หวัด
เปลือกผล รสขมหอม เปลือกผลแห้งต้มเอาน้ำดื่ม แก้จุกเสียดแน่นท้อง แก้ปวดท้อง ขับเสมหะ บำรุงกระเพาะอาหาร แก้อาหารเป็นพิษ แก้บิด แก้ปวดศีรษะ แก้ลมวิงเวียน แก้เหน็บชา แก้ตาแดง แก้นิ่ว บำรุงผิว แก้สิวฝ้า แก้ส้นเท้าแตก แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้กลากเกลื้อน หิด แก้หูด แก้พุพอง แก้น้ำกัดเท้า แก้ปูนซีเมนต์กัด แก้บาดทะยัก แก้เล็บขบ แก้ปลาดุกยัก
เมล็ด รสขม นำเมล็ดมาคั่วบดเป็นผงหรือต้มดื่ม ขับเสมหะ แก้ไอ แก้พิษไข้ร้อน แก้ซาง บำรุงน้ำดี
ราก รสจืดเย็น ใช้รากสดต้มน้ำดื่ม แก้ฟกช้ำจากการถูกกระแทกหรือหกล้ม แก้ปวด ถอนพิษผิดสำแดง ถอนไข้ แก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ ฝนกับสุราแก้ปวดฝี แก้พิษอักเสบ ต้มน้ำดื่มแก้พิษสุนัขบ้ากัด
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 38, 101.