ไพล


ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingibermontanum (Koenig ) Link ex Dietr.
ชื่อพ้อง Zingiber cassumunar Roxb.
Zingiber purpureum Roscoe.
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่อสามัญ Phlai, Cassumunar ginger, Bengal root
ชื่ออื่นๆ
ภาคเหนือ ปูเลย, ปูลอย
เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน มิ้นสะล่าง
ภาคกลาง ว่านไฟ
ยะลา ไพล
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 1 – 1.5 เมตร มีลำต้นใต้ดินลักษณะเป็นเหง้ามีขนาดใหญ่ และเป็นข้อ เปลือกมีสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในหัวสีเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ โดยจะประกอบไปด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันอยู่ เหง้าไพลสดฉ่ำน้ำ รสฝาด เอียด ร้อนซ่า มีกลิ่นหอมเฉพาะ ส่วนเหง้าไพลแก่สดและแห้งจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกใบเรียงสลับระนาบเดียว กว้างประมาณ 3.5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 18-35 เซนติเมตร ลักษณะใบรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน แผ่นใบบาง เนื้อในละเอียดสีเขียว โคนก้านใบแผ่ออกมีหูใบ

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด แทงช่อดอกออกจากเหง้าใต้ดิน รูปเห็ดหรือรูปกระบองโบราณ มีใบประดับสีม่วงซ้อนกันแน่น รูปโค้งห่อรองรับเป็นกาบปิดแน่น และจะขยายเปิดอ้าออกให้เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกมีสีนวล ออกดอกระหว่างกลีบของใบประดับ

ผล เป็นผลแห้งแตก รูปทรงกลม มีเมล็ดกลมแข็งขนาดเล็กอยู่ภายใน เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลแกมเหลือง

ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด แง่ง หรือเหง้า แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการเพาะปลูก พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียแถบประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ปลูกกันมากในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว
ประโยชน์ทางยา
เหง้า เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้บิด ท้องเดิน ขับประจำเดือนสตรี ทาแก้ฟกบวม แก้ผื่นคัน เป็นยารักษาหืด เป็นยากันเล็บถอด ใช้ต้มน้ำอาบหลังคลอด
น้ำคั้นจากเหง้า รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกบวม แพลงช้ำเมื่อย
หัว ช่วยขับระดู ประจำเดือนสตรี เลือดร้าย แก้มุตกิตระดูขาว แก้อาเจียน แก้ปวดฟัน
ดอก รสขื่น ขับระดู ขับโลหิตกระจายเลือดเสีย แก้ชำใน
ต้น แก้ธาตุพิการ แก้อุจาระพิการ
ใบ รสขื่นเอียน แก้ไข้ ปวดเมื่อย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เมื่อย
ลำต้นเหนือดิน รสฝาดขื่นเอียน แก้ธาตุพิการ แก้อุจจาระพิการ
เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสฝาดขื่นเอียน เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ สมานลำไส้ แก้สารพิษในท้อง แก้โรคหืด ขับลมในลำไส้ แก้ท้องเดิน ใช้เป็นยาช่วยขับระดูประจำเดือนสตรีหลังคลอดบุตร ลดอาการอักเสบและบวม แก้ท้องเสีย แก้ปวดฟัน แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้เด็กเป็นไข้สูงตัวสั่นตาเหลือก ขับเลือดร้าย แก้บิด, ใช้เหง้าสดที่แก่จัดเป็นยาใช้ภายนอก ฝนทาแก้เหน็บชา เมื่อยขบ แก้เคล็ดขัดยอก ฟกบวม, ใช้ขี้ผึ้งผสมน้ำมันไพล ทาแก้อาการเคล็ดขัดยอก หรือใช้น้ำมันไพลผสมแอลกอฮอล์ทากันยุง แก้โรคผิวหนัง แก้ฝี ทาเคลือบแผล ป้องกันการติดเชื้อ ดูดหนอง สมานแผล
ราก รสขื่นเอียน แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้เลือดกำเดาออกทางปากทางจมูก
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ

ไพล,เหง้า

ไพล, ต้น
 
ไพล, หน้าใบ
 

ไพล, หลังใบ

ไพล, ใบประดับ
 
ไพล, ดอก
 

ไพล, herbarium ตัวอย่างที่ 1

ไพล, herbarium ตัวอย่างที่ 2
 
ไพล, herbarium ตัวอย่างที่ 3
 
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
ไพล. (2559). สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2560, จาก https://medthai.com/%E0%B9%84%E0%B8%9E% E0%B8%A5/
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 293.