เพกา


ชื่อวิทยาศาสตร์ Oroxylum indicum (L.) Kurz
ชื่อวงศ์ BIGNONIACEAE
ชื่อสามัญ
ชื่ออื่นๆ
กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน ดอก๊ะ, ด๊อกก๊ะ, ดุแก
ภาคเหนือ มะลิดไม้, มะลิ้นไม้, ลิดไม้
เงี้ยว-ภาคเหนือ หมากลิ้นก้าง, หมากลิ้นช้าง
ภาคกลาง เพกา
กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี กาโด้โด้ง
เลย ลิ้นฟ้า
มลายู-นราธิวาส เบโก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงประมาณ 4 - 15 เมตร เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาลครีมอ่อนหรือสีเทา บางทีแตกเป็นรอยตี้นเล็กน้อย มีรูระบายอากาศกระจัดกระจายตามลำต้นและกิ่งก้าน

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 3 - 4 ชั้น ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก หนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง มีใบเดี่ยวๆ ขนาดใหญ่ที่ปลายก้านลักษณะรูปทรงกลม ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน ก้านใบยาว ใบย่อยลักษณะรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียว ออกตรงข้ามชิดกันอยู่ประมาณปลายกิ่ง ก้านใบย่อยสั้น แผ่นใบสีเขียวเข้ม

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ช่อมีขนาดใหญ่ออกที่บริเวณยอด มีก้านช่อดอกยาว มีดอกย่อยขนาดใหญ่ ลักษณะรูปปากเปิดแบบสมมาตรด้านข้างกลีบดอกหนา มี 5 กลีบ ภายนอก สีม่วงแดงหรือน้ำตาลคล้ำ ภายในสีเหลืองเปรอะๆ กึ่งสีชมพู โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปลำโพง ส่วนปลายแยกออกเป็นกลีบย่นขยุกขยิก บริเวณปลายกลีบดอกด้านในสีขาวอมเหลือง หรือขาวอมเขียว มีเกสรตัวผู้ 5 อันติดกับท่อดอก โคนก้านจะมีขน

ผล ผลเป็นฝักแบน ยาวคล้ายรูปดาบ ห้อยระย้าอยู่เหนือเรือนยอด สีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 45 - 120 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก

เมล็ด ลักษณะแบน มีปีกบางใสสีขาวจำนวนมาก
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสฝาด ใช้ต้มดื่มแก้อาการปวดท้อง แก้ปวดข้อ และเจริญอาหาร
เปลือกต้น รสฝาดขมเย็น เป็นยาฝาดสมานแผล ดับพิษโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ฟกช้ำ ป่นเป็นผงหรือยาชงดื่มแก้ขับเหงื่อ แก้ไขข้ออักเสบชนิดฉับพลัน ช่วยเจริญอาหาร ผงเปลือกผสมกับขมิ้นชันเป็นยาแก้โรคปวดหลังของม้า
ลำต้น รสขม แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
ผลอ่อนหรือฝักอ่อน รสขมร้อน ขับผายลม เป็นยาบำรุงธาตุ
ผลแก่หรือฝักแก่ รสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ
เมล็ดแก่ รสขม เป็นยาอมแก้ไอ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน
เปลือกราก รสฝาดขม แก้ปวดท้อง เป็นยาฝาดสมาน ยาบำรุง แก้บิด ท้องเสีย ขับเหงื่อ
ราก รสฝาดขม เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง ช่วยเจริญอาหาร ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้อาการอักเสบ ฟกช้ำ บวม
ทั้งห้า (ผลแก่ ผลอ่อน เมล็ดแก่ เปลือกต้น ราก) รสฝาดขมเย็น เป็นยาสมาน แก้ไข้เพื่อลมและโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ท้องร่วง แก้อักเสบ ฟกบวม
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 26.