กล้วยน้ำว้า


ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa ABB cv'. Kluai 'Namwa'
ชื่อพ้อง Musa sapientum L.
ชื่อวงศ์ MUSACEAE
ชื่อสามัญ Banana, Cultivated banana.
ชื่ออื่นๆ
ภาคเหนือ กล้วยไข่, กล้วยใต้, กล้วยส้ม, กล้วยหอม
เงี้ยว-ภาคเหนือ กล้วยกะลิอ่อง, กล้วยมะนิอ่อง, มะลิอ่อง
กรุงเทพมหานคร กล้วยนาก
ภาคกลาง กล้วยน้ำว้า, กล้วยเล็บมือ, กล้วยหอมจันทน์, กล้วยหักมุก
กะเหรี่ยง-จันทบุรี ยาไข่, สะกุย
เขมร-จันทบุรี เจก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน (rhizome) เรียกว่าเหง้า และแตกหน่อออกด้านข้าง อายุได้หลายปี ลำต้นบนดิน คือส่วนกาบใบที่เรียงเวียนซ้อนกันเป็นลำต้นเทียมมีสีสีเขียวและมีปื้นดำเล็กน้อย ด้านในสีเขียวอ่อน รูปทรงกระบอก สูง 2-9 เมตร

ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ กว้าง 0.7-1.0 เมตร ออกเรียงเวียนสลับกัน ลักษณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบมนหรือเฉียง ขอบใบเรียบ และมีแถบสีแดงเล็กโดยรอบ ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม แผ่นใบยาวสีเขียว ท้องใบหรือใต้ใบสีขาวนวล เส้นกลางใบหรือแกนใบเป็นร่องลึกแข็งเห็นชัดเจน เส้นใบมีจำนวนมาก แยกออกจากเส้นกลางใบทั้งสองข้าง ขนานกันไปจดขอบใบ ก้านใบมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อตรงกลางเป็นรูพรุน ยาว 1-2 เมตร ส่วนโคนแผ่ออกเป็นกาบ

ดอก เป็นช่อห้อยลง เรียกหัวปลี ยาว 30-150 ซม. ก้านดอกช่อแข็ง ดอกย่อยแยกเป็นดอกเพศผู้ และเพศเมีย ดอกเพศเมียมักอยู่ตอนล่างของช่อ ดอกย่อยเป็นกลุ่มๆ เป็นช่อดอกย่อย แต่ละกลุ่มรองรับด้วยใบประดับขนาดใหญ่สีม่วงแดง ซึ่งติดบนแกนกลางช่อ ดอกแบบเรียงเวียนสลับกัน ดอกย่อยมีขนาดใหญ่ รูปทรงกระบอก กลีบดอกแยกออกเป็น 3-5 แฉก เกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์มี 5 อัน ก้านเกสรตัวผู้แข็ง อับเรณูรูปขอบขนาน มี 2 พู รังไข่ติดอยู่ได้ กลีบดอกมี 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนจำนวนมากติดรอยเชื่อมของแต่ละช่อง เกสรตัวเมียเป็นเส้นด้าย ยอดเกสรตัวเมียค่อนข้างกลม มี 6 พู

ผล ลักษณะรูปรี ผิวเรียบ ปลายเป็นจุก ออกผลเป็นแผงเรียกว่าหวี และเรียงซ้อนกันหลายหวี เรียกว่า เครือ ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกมีรสหวาน มีสีเหลือง เนื้อในสีขาวหรือขาวอมเหลือง รับประทานได้

เมล็ด ไม่มี หรือ มีแต่น้อย ค่อนข้างกลม สีดำ
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสเย็นจืด ปิ้งไฟปิดแผลไฟไหม้ หรือต้มน้ำอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน ตามร่างกาย
น้ำยาง รสฝาด น้ำยางจากก้านใบใช้เป็นยาสมานแผล ใช้ห้ามเลือด โดยใช้ยางหยดลงที่บาดแผล
ผล มีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยกินวันละ 4-6 ลูก แบ่งกินกี่ครั้ง ก็ได้ กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน 1 สัปดาห์ กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคตินมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษา อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย
ผลดิบ รสฝาด แก้โรคท้องเสีย สมานแผล รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และอาหารไม่ย่อย, ใช้ผงกล้วยดิบโรยรักษาแผลเรื้อรัง แผลเน่าเปื่อย และแผลติดเชื้อต่างๆ
ผลสุก รสหวาน ใช้เป็นยาระบายสำหรับผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร หรือผู้ที่มีอุจจาระแข็ง บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
ดอกหรือหัวปลี รสฝาด แก้โรคโลหิตจาง บำรุงน้ำนม ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด แก้โรคกระเพาะอาหารลำไส้ และรักษาโรคเบาหวาน น้ำคั้นจากหัวปลี ดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต และถ่ายเป็นมูกเลือด
หยวกกล้วย รสฝาดเย็น เผาไฟรับประทานเป็นยาขับพยาธิ
เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสฝาดเย็น ปรุงเป็นยาแก้ริดสีดวงทวารชนิดมีเลือดออกหรือรักษาแผลภายในช่องทวาร
ราก รสฝาดเย็น ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ท้องเสีย แก้โรคบิด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ สมานแผลภายใน และแก้ผื่นคัน
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ

กล้วย, ต้น

กล้วย, กาบใบ
 
กล้วย, ใบ
 

กล้วย, หัวปลี

กล้วย, ดอก
 
 

กล้วย, ผล

กล้วย, herbarium ตัวอย่างที่ 1
 
กล้วย, herbarium ตัวอย่างที่ 2
 

กล้วย, herbarium ตัวอย่างที่ 3
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(มปป.). Banana, Cultivated banana Musa sapientum L.สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2560, จาก http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=98 6&name=Banana%2C%20Cultivated%20banana
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 48, 131.