พริกไทย


ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum L.
ชื่อวงศ์ PIPERACEAE
ชื่อสามัญ Pepper.
ชื่ออื่นๆ
ภาคเหนือ พริกน้อย
ภาคกลาง พริกไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้เถา ประเภทเลื้อย อาศัยเกาะยึดติดอยู่กับค้าง โดยใช้รากเล็กๆ ที่เจริญออกมาตามข้อของลำต้นที่เรียกว่า รากตีนตุ๊กแกหรือมือตุ๊กแก เปลือกลำต้นเมื่ออ่อนจะมีสีเขียว และเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ลำต้นมีข้อและปล้องมองเห็นได้ชัดเจน ต้นเพศผู้และต้นเพศเมียจะอยู่ต่างต้นกัน

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันตามข้อของลำต้นและกิ่งแขนง ลักษณะใบรูปไข่ โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ลักษณะคล้ายใบพลู เนื้อใบแข็ง ผิวใบเรียบเป็นมัน ท้องใบจะเป็นสีเขียวออกเทา และมีเส้นใบนูน ส่วนหลังใบจะเป็นสีเขียวเข้ม

ดอก จะออกดอกเป็นช่อ เกิดตรงข้ามกับใบในส่วนของกิ่งแขนง ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง เกสรสีขาวแกมเขียว ช่อดอกขณะอ่อนจะมีสีเหลืองอมเขียว เมื่อแก่จะมีสีเขียวและปลายช่อดอกจะห้อยลงดิน

ผล ลักษณะรูปทรงกลม เรียงบิดตัวกันอย่างหนาแน่นอยู่กับแกนของช่อ ผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนและจะเข้มขึ้นตามอายุของผล ผิวของผลจะมีลักษณะเป็นมันเงาและเปลี่ยนเป็นสีเขียวปนเหลือง ผลแก่สุกเต็มที่จะมีสีส้มหรือสีฃแดง เมื่อผลแห้งจะเป็นสีดำ

เมล็ด จะมีสีขาวนวล ลักษณะแข็ง รูปร่างค่อนข้างกลม ภายในเมล็ดมีต้นอ่อนขนาดเล็กอยู่ เมล็ดมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวและมีรสเผ็ด
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสเผ็ดร้อน แก้ลม จุกเสียด แน่น แก้ปวดมวนท้อง
เถา รสร้อน แก้อุระเสมหะหรือเสมหะในทรวงอก แก้อติสาร (อาการท้องร่วง อุจจาระเหม็นเน่า ถ่ายเป็นโลหิตจนลำไส้แตกทะลุ มีไข้แทรก)
ดอก รสเผ็ดร้อน แก้ตาแดง เนื่องจากความดันโลหิตสูง
ผลหรือเมล็ด รสเผ็ดร้อน แก้ลมอัมพฤกษ์ แก้ลมลั่นในท้อง บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้เสมหะเฟื่อง แก้มุตกิด
ราก รสร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 97.