น้อยหน่า


ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona squamosa L.
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE
ชื่อสามัญ Custard apple, Sugar apple, Sweet sop
ชื่ออื่นๆ
เงี้ยว-ภาคเหนือ มะออจ้า, มะโอจ่า
เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน หน่อเกล๊าะแซ
ภาคเหนือ มะนอแน่, มะแน่
เขมร เตียบ
ภาคอีสาน หมักเขียบ
ภาคกลาง น้อยหน่า
ภาคใต้ น้อยแน่
ปัตตานี ลาหนัง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น ขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 3 – 5 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกต้นเรียบเกลี้ยง สีเทาอมน้ำตาลเข้ม แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นก้านเล็กๆ สีน้ำตาลแดง

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปรี ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม กว้าง 3-6 ซม. ยาว 7-13 ซม. ก้านใบสั้น แผ่นใบบางสีเขียวเข้ม ท้องใบหรือใต้ใบสีเขียวอ่อน

ดอก ออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ลักษณะเป็นดอกสมมาตรตามรัศมี มีสองเพศ มีกลีบดอกจัดเรียงเป็นวงๆ ละ 3 กลีบ สีเหลืองอมเขียวห้อยลง กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ กลีบดอกมี 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ชั้นในกลีบดอกสั้นกว่าชั้นนอก หนาอวบน้ำ มีเกสรเพศผู้และรังไข่จำนวนมาก

ผล เป็นผลกลุ่มอยู่อัดกันแน่น ดูคล้ายเป็นผลใหญ่ผลเดียว ลักษณะรูปทรงค่อนข้างกลมหรือป้อม โคนผลรูปหัวใจ เปลือกผลสีเขียวอมเทา ผิวขรุขระเป็นช่องกลมนูนหรือเป็นตา มีร่องตามแนวเนื้อหุ้มเมล็ด แต่ละช่องจะมีเนื้อสีขาวหุ้มเมล็ด เนื้อในทานได้มีรสหวาน เมื่อผลแก่ตรงขอบ ช่องนูนนั้นจะออกสีขาว เปลือกจะอ่อนนุ่ม

เมล็ด ลักษณะรูปรี สีดำหรือน้ำตาลเข้ม เป็นมัน เนื้อในเมล็ดสีขาว
ประโยชน์ทางยา
ผลดิบ รสเฝื่อน เป็นยาฝากสมานแผล ห้ามเลือด แก้โรคบิด โรคท้องร่วง และบำรุงธาตุ เป็นยาแก้พิษงู แก้ฝีในคอ กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิ ผิวหนัง
ผลแห้ง รสเฝื่อน แก้งูสวัด เริม แก้ฝีในหู
เมล็ด รสเมามัน ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด ฆ่าเหา และแก้บวม เนื้อในเมล็ดใช้รับประทารขับเสมหะ เมล็ดโขลกผสมน้ำมันมะพร้าวทาฆ่าพยาธิผิวหนัง ฆ่าหิด ฆ่าเหา
ราก รสเฝื่อน เป็นยาระบาย ทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา รักษาโรคบิด
ใบ รสเฝื่อนเมา โขลกพอกเป็นยาแก้ฟกบวม พอกฝี แผลพุพอง แก้กลากเกลื้อน ขับพยาธิลำไส้ หรือรับประทานฆ่าเชื้อโรคภายในร่างกาย เป็นยาแก้หัด ฆ่าเหา
เปลือกต้น รสฝาดเฝื่อน เป็นยาสมานลำไส้ เป็นยาสมานแผล เป็นยาห้ามเลือด แก้ท้องร่วง แก้รำมะนาด แก้พิษงู เป็นยาบำรุงกำลัง
ใบ, ผลดิบ, เมล็ด รสเฝื่อน เมามัน เป็นยาเบื่อปลา ยาฆ่า่เหา และหิด เป็นยาฆ่าแมลง
ผลสุก รสหวาน เป็นอาหารที่มีคุณค่าสำหรับคนหลังฟื้นไข้เนื่องจากเนื้อของผลอุดมไปด้วยวิตามินซี
เปลือกผลดิบ รสเฝื่อนเมา ฝนกับสุรากลั่นทาแผลแก้งูกัด
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ

น้อยหน่า, ต้น

น้อยหน่า, หน้าใบ
 
น้อยหน่า, หลังใบ
 

น้อยหน่า, ดอก

น้อยหน่า, ผล
 
น้อยหน่า, herbarium ตัวอย่างที่ 1
 

น้อยหน่า, herbarium ตัวอย่างที่ 2

น้อยหน่า, herbarium ตัวอย่างที่ 3
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
Medplant.mahidol.ac.th. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; [เข้าถึงเมื่อ 5 ม.ค. 2560] เข้าถึงได้จาก: http://medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/annona.html
สำนักยา กลุ่มพัฒนาระบบ งานระบบยาแห่งชาติและสารสนเทศ. บัญชียาหลักแห่งชาติ. 2556. [เข้าถึงเมื่อ 5 ม.ค. 2560] เข้าถึงได้จาก: http://www.thaihof.org/sites/default/files/herbal_book_56_0.pdf
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 307.