ทับทิม


ชื่อวิทยาศาสตร์ Punica granatum L. var. granatum
ชื่อวงศ์ PUNICACEAE
ชื่อสามัญ Pomegranate.
ชื่ออื่นๆ
ภาคเหนือ มะเก๊าะ
เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน หมากจัง
น่าน พิลาขาว, มะก่องแก้ว
ภาคกลาง ทับทิม
หนองคาย พิลา
จีน เซียะลิ้ว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่ม ขนาดกลาง สูงประมาณ 2 - 5 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาค่อนข้างเรียบ ส่วนที่เป็นกิ่งหรือยอดอ่อนจะเป็นเหลี่ยม ตามกิ่งก้านจะมีหนามแหลม

ใบ เป็นใบเดี่ยว แตกใบออกตรงข้ามเป็นคู่ ลักษณะใบรูปยาวรีหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ และเป็นคลื่นบางช่วง ปลายใบเว้าบุ๋ม แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบเนียนค่อนข้างบาง ใบอ่อนสีแดง

ดอก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อแบบช่อกระจุก ช่อหนึ่งๆ มีไม่เกิน 5 ดอก ตามปลายกิ่งและซองใบ ดอกสีส้มแดง มีกลีบรอบกลีบดอกหนา โคนกลีบติดกันเป็นหลอด ปลายหลอดจักเป็นฟันเลื่อยและโค้งออก กลีบดอกมีประมาณ 5 - 7 กลีบ สีแดงหรือสีส้มปนแดง บางและย่น

ผล ลักษณะเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม ผิวนอกหนาเกลี้ยงแข็งเป็นมัน ที่ปลายมีจุกกลีบรองกลีบดอกติดอยู่ ผลแก่สีเหลืองปนแดง ลักษณะของผลจะแตกหรืออ้าออก ข้างในผลจะมีเมล็ดจำนวนมากเป็นรูปเหลี่ยม เนื้อหุ้มเมล็ดสีชมพูสด
ประโยชน์ทางยา
ใบ รสฝาด ใช้เป็นยาสมานแผล แก้ท้องร่วงได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แก้บิดมูกเลือด
เปลือกต้น รสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้บิดมูกเลือด แก้พยาธิลำไส้ แก้เจ็บคอ
ลำต้น (เปลือกต้น - แก่น - กระพี้) รสเมาเบื่อ ขับพยาธิไส้เดือน ขับพยาธิตัวตืด
ดอก รสฝาดหวาน ใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นเป็นยาสมานลำไส้ แก้ท้องเสีย ต้มดื่มแก้หูชั้นในอักเสบ บดโรยแผลที่มีเลือดออก แก้เลือดกำเดาออก ใช้ห้ามเลือด
เปลือกผล รสฝาด มีฤทธิ์สมานแผล แก้บิด แก้ท้องร่วง ท้องเดิน ถ่ายพยาธิลำไส้ เป็นยาคุมธาตุ แก้โรคลักปิดลักเปิด
เมล็ด แก้ท้องร่วง เป็นยาขับพยาธิตัวตืด แก้โรคจุกแน่นจากโรคกระเพาะอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร
เนื้อหุ้มเมล็ด รสหวานอมเปรี้ยว ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ทำให้ชุ่มชื่นใจ และบำรุงหัวใจ
ราก รสเมาเบื่อ ขับพยาธิไส้เดือน พยาธิตัวตืด พยาธิตัวแบน แก้เจ็บในลำคอ แก้ตาฟาง แก้ตานขโมย รักษาโรคเกี่ยวกับไต แก้ระดูขาว ตกเลือด แก้ท้องเสีย
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 134.