ขมิ้นชัน


ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa L.
ชื่อพ้อง Curcuma domestica Valeton
ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE
ชื่อสามัญ Turmeric
ชื่ออื่นๆ
ทั่วไป ขมิ้น
เชียงใหม่ ขมิ้นแกง, ขมิ้นหยอก, ขมิ้นหัว
กะเหรี่ยง - กำแพงเพชร ตายอ
กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน สะยอ
ภาคกลาง, พิษณุโลก ขมิ้นชัน
ภาคใต้ ขี้มิ้น, หมิ้น
ขมิ้นขาว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-95 ซม. มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ประกอบด้วยแง่งที่มีลักษณะต่างๆ กันคือ แง่งแม่หรือแง่งหลักจะมีลักษณะกลม ซึ่งจะเป็นที่แตกของแขนงที่สองและสามต่อไป แขนงที่แตกออกมานี้ถ้ามีลักษณะกลมจะเรียกว่า หัว และถ้ามีลักษณะยาวคล้ายนิ้วมือจะเรียกว่า นิ้ว ซึ่งเป็นที่เกิดของรากฝอย เนื้อในหัวมีสีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองจำปาปนสีแสด และมีกลิ่นหอม ส่วนลำต้นเหนือดินคือกาบก้านใบที่เรียงซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม

ใบ เป็นใบเดี่ยว กลางใบสีแดงคล้ำ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ลักษณะใบรูปใบหอกยาวเรียว ปลายใบแหลม กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. มีเส้นกลางใบเห็นได้ชัดเจนทางด้านล่างของใบ ใบเรียงแบบสลับ และอยู่กันเป็นกลุ่ม

ดอก ออกเป็นช่อ ช่อดอกจะเกิดบนลำต้นที่มีใบหรือโผล่ขึ้นมาจากใจกลางของกลุ่มใบ ช่อดอกมีรูปร่างแบบทรงกระบอกหรือรูปกรวย ใบประดับมีสีเขียวอ่อนๆ หรือสีขาว กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ตรงปลายช่อดอกจะมีสีชมพูอ่อน จัดเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ กลีบรองกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ มีขน กลีบดอกมีขาว ตรงโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว บานครั้งละ 3-4 ดอก

ผล รูปกลมมี 3 พู
ประโยชน์ทางยา
เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสฝาดหวานเอียน กลิ่นหอม มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดการอักเสบ และ มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี และในเหง้ายังมีสารสีเหลืองส้มที่เรียกว่าเคอร์คูมิน สารสกัดด้วยเอทานอลจากเหง้าสดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและต้านอนุมูลอิสระขมิ้นชันไม่มีพิษเฉียบพลัน มีความปลอดภัยสูง ขมิ้นชัน เพิ่มภูมิคุ้มกัน อิมมูโนโกลบูลิน ชนิดจี (IgG) และลดความไวต่อตัวกระตุ้น ช่วยขยายหลอดลม ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และเป็นสมุนไพรรักษาโรคภูมิแพ้ แก้ไข้เรื้อรัง แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะและโลหิต แก้ท้องร่วง สมานแผล แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ผื่นคัน แก้โรคเหงือกบวม แก้บิด, น้ำคั้นจากเหง้าสดทาแก้แผลถลอก แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ลดการอักเสบ ทำให้ผิวพรรณผุดผ่อง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
น้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณบรรเทา อาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุดเสียด แก้โรคผิวหนัง ขับลม แก้ผื่นคัน แก้ท้องร่วง ในตำรายาจีนใช้เป็นยา แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดประจำเดือน
ผงขมิ้น เคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด ผสมน้ำทาผิว แก้เม็ดผดผื่นคัน
ขมิ้นสด โขลกกับดินประสิวเล็กน้อย ผสมน้ำปูนใสพอกบาดแผลและแก้เคล็ด ขัด ยอก เผาไฟแล้วโขลกรวมกับน้ำปูนใส รับประทานแก้ท้องร่วง แก้บิด
ใบ รสฝาดเอียน ใช้ผสมกับยานวดเพื่อคลายเส้น ใช้เป็นส่วนผสมทำยาอายุวัฒนะ แก้ปวดมวน ริดสีดวงทวาร รักษาอาการท้องเดิน ปวดท้อง
เหง้าแห้ง บดเป็นผงให้ละเอียดเคี่ยวในน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด ผสมน้ำใช้ทาผิวกายแก้เม็ดผดผื่นคัน
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ

ขมิ้นชัน, เหง้า

ขมิ้นชัน, ต้น
 
ขมิ้นชัน, หน้าใบ
 

ขมิ้นชัน, หลังใบ

ขมิ้นชัน, กลีบดอก
 
ขมิ้นชัน, ดอก
 

ขมิ้นชัน, herbarium ตัวอย่างที่ 1

ขมิ้นชัน, herbarium ตัวอย่างที่ 3
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
ขมิ้น. (2559). สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2560, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%82%E0% B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%99
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (มปป.)ขมิ้นชัน. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2560, จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=34
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 53, 81, 273.