กระเทียม


ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium sativum L.
ชื่อพ้อง Languas galanga (Linn.) Stuntz.
ชื่อวงศ์ ALLIACEAE
ชื่อสามัญ Galic
ชื่ออื่นๆ
อุดรธานี กระเทียมขาว, หอมขาว
ภาคเหนือ หอมเทียม
กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน ปะเซ้วา
ภาคใต้ เทียม, หัวเทียม
ทั่วไป กระเทียม, กระเทียมจีน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดิน แต่ละหัวประกอบด้วยกลีบหลายกลีบเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ แต่ละกลีบจะมีเปลือกหรือกาบสีขาวหรือม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 2 - 4 ชั้นโดยรอบ ลอกออกได้และสามารถแยกออกจากหัวเป็นอิสระได้ บางพันธุ์แต่ละหัวมีเพียงกลีบเดียว เรียกว่า กระเทียมโทน

ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปขอบขนาน แบนและแคบยาว ปลายใบแหลม โคนของใบแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันหุ้มรอบใบอ่อนกว่าด้านใน ลักษณะคล้ายลำต้นเทียม ขอบใบเรียบ ท้องใบมีรอยพับเป็นสันตลอดความยาว ใบมีสีเขียวแก่

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว เล็ก ติดกันเป็นกระจุกที่ปลายก้านช่อ มีลักษณะกลม ประกอบด้วยดอกหลายดอก มีกาบหุ้มเป็นจะงอยยาว กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปร่างยาวแหลม สีขาวแต้มสีม่วงหรือขาวอมชมพู

ผลขนาดเล็กเป็นกระเปาะสั้นๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู

เมล็ด เมล็ดเล็ก สีดำ สามารถขยายพันธุ์ได้เช่นเดียวกับกลีบกระเทียม ซึ่งการปลูกกระเทียมในประเทศไม่ค่อยออกดอกหรือติดผลหรือเมล็ด
ประโยชน์ทางยา
หัว รสร้อนฉุน มีน้ำมันหอมระเหยใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับปัสสาวะและขับเสมหะ น้ำกระเทียมผสมน้ำ 4 เท่า ใช้ใส่แผลที่เป็นหนอง น้ำคั้นจากกระเทียมหยอดใส่หูแก้หูอื้อ หูตึง ทาแผลแก้กลากเกลื้อน ขับลมในลำไส้ แก้ท้องขึ้น แน่นท้องจุกเสียด ท้องเฟ้อ ขับพยาธิในลำไส้ แก้หืด อัมพาต โขลกสระผมป้องกันผมหงอก ทาถูนวดแก้อาการชักกระตุกของเด็ก โขลกพอกหัวเหน่าแก้ขัดเบา โขลกกับน้ำส้มกวาดคอแก้อักเสบเสียงแหบแห้ง แก้อาการไขมันอุดตันในเส้นเลือด แก้ความดันโลหิตสูง ใช้พอกตรงที่ถูกแมลง ตะขาบ และแมลงป่องต่อย เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
ใบ รสร้อนฉุน ทำให้เสมหะแห้ง กระจายโลหิต แก้ลมปวดมวนในท้อง
DNA barcode ตัวอย่าง
รูปภาพ
ข้อมูลเพิ่มเติม อ่าน
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กระเทียม. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2562, จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/allium.html
อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 61, 224.